23 มีนาคม 2559 ครบรอบ 18 ปี เพลงอาร์แอนด์บีในตำนานของมารายห์ "Breakdown"

ครบรอบ 18 ปี เพลงอาร์แอนด์บีในตำนานของมารายห์ "Breakdown"



Breakdown คือความใหม่สุดเฟรชสุดและยิ่งใหญ่สุดในการทำเพลงอาร์แอนด์บีของมารายห์เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะถูกจริตกับแฟนเพลงเดนตายแล้ว มันยังขยายวงกว้างไปสู่ฐานแฟนเพลงอื่นๆ ของนางอีกด้วย แม้ว่าจะรู้ๆ กันอยู่ว่าทางค่ายไม่เป็นปลื้มนักสำหรับการเหยียบเรือสองแคมครึ่งหนึ่งเป็นพ๊อพอีกครึ่งหนึ่งเป็นเพลงฮิปฮอปอาร์แอนด์บี แต่นี่ก็ถือว่ามารายห์กล้าตัดสินใจที่จะเลือกทำตามใจของเธอ แม้เพลงอื่นๆ จะสร้างสรรค์เพื่อเอาใจแฟนเพลงเก่าๆ แต่ครึ่งอัลบั้มนี้กลับกลายเป็นว่าดูมารายห์จงใจที่จะเสนองานใหม่มากกว่า (แน่นอนฐานแฟนเพลงเลยลดน้อยถอยลงไปที่เหลือก็คือแฟนคลับเดนตายอย่างเราๆท่านๆ นี่แหละ)

มารายห์เลือกจะโปรโมทเพลงนี้ แต่ค่ายเพลงก็ยังยืนกรานไม่เห็นดีเห็นงามด้วย เนื่องจากพวกเขาอยากได้เพลงที่ขายได้และอยากให้เธอมีเพลงอันดับหนึ่งอีกสักเพลง งานนี้มารายห์เลือกที่หยุดเพลงอันดับหนึ่งที่ได้ติดต่อกันมาถึง 5 เพลงแล้วนั้นไว้ เพราะเธอคิดว่ามันเพียงพอแล้วสำหรับเธอ และเธอขอทำตามใจของเธอบ้าง เมื่อมารายห์เป็นฝ่ายชนะ เพลงได้รับการโปรโมทแบบที่ทางค่ายก็ไม่ใคร่จะอยากสนับสนุนสักเท่าไร ดูได้จากความสำเร็จบนตารางชาร์ตเพลงบิลบอร์ดที่ไม่เข้าอันดับในชาร์ตหลัก แต่เพลงนี้ก็สามารถไต่ไปถึงอันดับที่ 53 ของ Air Play Chart (สมัยก่อน Billboard จะแยกชาร์ตออกเป็นสองชาร์ตคือชาร์ตสำหรับการวัดยอดขายและมีการตัดฟอร์แมทเป็นซิงเกิ้ลซึ่งเป็นชาร์ตหลักหรือเรียกอีกอย่างคือ Hot 100 Single Chart และชาร์ตสำหรับออกอากาศเท่านั้น นั่นก็คือ Hot 100 Air Play Chart ซึ่งปัจจุบันได้รวมเป็นชาร์ตเดียวเพราะอุปสงและอุปทานในช่วงยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไป)

จนนั่นก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มารายห์อยากจะตีปีกหนีออกจากค่าย แต่ด้วยสัญญาที่เหลือเธอจึงต้องจำทนและดูเหมือนว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่ออัลบั้ม #1’s งานเพลงชุดรวมฮิตชุดแรกของเธอออกมา ตอนแรกมารายห์ตั้งใจจะเพิ่มเพลงใหม่มาสี่เพลงตามที่เห็นบนปกนั่นแหละ และขอเอา Breakdown และ Butterfly มาใส่รวมด้วย ซึ่งทางค่ายเห็นว่ามันไม่ตรงกับคอนเสปที่วางไว้ จึงตัดสินใจไม่เอามารวมด้วยแต่ได้แทรกแทรคที่มีความเป็นป๊อปมากกว่าอย่าง Whenever You Call มาให้แทน (เห็นความพยายามและความตั้งใจในการนำเสนอผลงานของนางแล้วใช่ไหมคะ ยอมใจนางมาก)

Breakdown ได้ถูกสร้างสรรค์และกลั่นออกจากมันสมองของยอดอัจริยะทางดนตรีของโลกอีกคนหนึ่งนั่นก็คือ Sean “Puffy” Combs เจ้าเดิมที่เคยสร้างชื่อเสียงไว้กับ Honey มาแล้ว ร่วมด้วย Stevie J และตัวมารายห์เอง ในส่วนของดนตรีนั้นเรียกได้ว่าเป็นงานมาสเตอร์พีชชิ้นหนึ่งของมารายห์เลยทีเดียวเพราะ มันเป็นเพลงอาร์แอนด์บีชั้นยอดที่ทำขึ้นมาใหม่ปราศจากการแซมพลิ่งใดๆทั้งสิ้น เทคนิคการร้องกึ่งแรปที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของมารายห์ก็เริ่มต้นจากเพลงนี้ และแน่นอนเอกลักษณ์การผสมเสียงหนึ่งและเสียงสองของมารายห์มันยังชวนให้น่าฟังอยู่เสมอ (ดิชั้นชอบใจตั้งแต่ Melt Away แล้วค่ะ ตอนแรกนึกว่านางเอาเสียงผู้ชายผิวสีมาร้องคู่ด้วย แต่ไม่ใช่เลย นั่นคือเทคนิคการร้องอันแพรวพราวเฉพาะตัวของนาง)

และนักร้องรับเชิญที่จะพูดถึงเสียไม่ได้ เพราะพวกเขาได้เติมเต็มให้เพลงนี้มัน Cool! มากขึ้น Krayzie Bone และ Wish Bone จากวงดนตรีแก๊งสต้าแรปสุดฮิฟ อย่าง Bone Thugs-n-Harmony (เพลงสุดฮิตของพวกเขาคือ the Crossroads และแน่นอนเพลงดังยุคหลังๆก็คือ Lil’Love ที่ได้มารายห์กลับไปร่วมงานด้วยอีกครั้ง) ซึ่งก็ถือว่าเป็นตำนานอีกหน้าหนึ่งของดนตรีเลยทีเดียวที่อลบั้มนึงจะรวมพลคนรักฮิพฮอฟไว้มากขนาดนี้ (ไม่มีชื่อในปกหลังแต่มีชื่อในปกในของเครดิต) ไล่ตั้งแต่ “Puffy” มาจนถึง Krayzie และ Wish Bone, Dru Hill กับเพลง the Beautiful Ones (และยังเป็นเพลงเก่าสุดคลาสสิคของ Prince อีกด้วย) ป้าอึ่ง Missy Elliot รวมไปถึง DaBrat เอากับแม่ซิ! จะขนมาทั้งวงการก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธนาง

แน่นอน มิวสิควีดีโอไม่ต้องพูดถึง มันคือหนึ่งในมิวสิคของมารายห์ที่เราชอบมากที่สุด โดยเฉพาะซีนฉากหลังที่เป็นผีเสื้อ จะบอกว่านี่แค่เป็นแค่โปรโมซิงเกิ้ลแค่นั้นนะยังลงทุนได้อลังค์การล้านแปดมาก (แอบเคืองอีค่ายเพลงแทนนางจริงๆ แหละ) แต่จะว่าไปใครที่เคยเป็นสมาชิกเวบมารายห์แคร์รี่ไทยแลนด์ดอทคอมและไปมีตติ้งกัน มีครั้งหนึ่ง ทางทีมงานได้ทำแผ่น Breakdown Limited Edition แจกสำหรับแฟนๆที่ไปมีตติ้งในคราวนั้นด้วย ถึงแม้จะเป็นของ Fan Made แต่ด้วย Booklet ที่สวยงาม และพริ้นท์สกรีนอย่างดี มันเลยทำให้ดิชั้นชอบและยังเก็บไว้อยู่จนถึงปัจจุบัน



- เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย -
ถ้าใครหูไม่ค่อยจะดีแนะนำให้หาหูฟังหรือลำโพงคู่ดีสักอันนึงแล้วเปิดอัลบั้มนี้ฟังจะรู้ว่า Breakdown มีช่วง Intro ต่อเนื่องมาจากเพลง Fourth of July นะจ๊ะ ลองเอียงหูฟังดีๆจะได้ยินเสียงนกกระจิบกระจาบหรีดริ่งเรไรท้ายเพลง Fourth of July ไล่มาจนถึงกลางๆ เพลง Breakdown เลยทีเดียว เลยไม่รู้ว่าเสียงนกกระจิบกระจาบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเพลงอะไรกันแน่ ลองกลับไปฟังกันดูและช่วยวิเคราะห์ทีนะค่ะ ว่านัยยะของการนำซาวด์ตัวนี้มาใส่มันมีความหมายอะไรแอบแฝงหรือเปล่า หรือนางอาจจะได้แรงบันดาลใจจากเพลง Lovin’ You ของ Minnie Riperton มาก็ได้เนาะ

อัลบั้มเวอร์ชั่นและรีมิกซ์เวอร์ชั่นก็จะต่างกัน โดยในส่วนของเวอร์ชั่นรีมิกซ์จะเพิ่ม Layzie Bone มาแรฟเพิ่มอีกด้วยนะ
คหสต. (เชิงชิงชัง) พูดไปก็เหมือนกับเป็นการพูดให้ร้ายของนักร้องสาวนางนั้นอีกครั้ง เพราะอัลบั้มเดี่ยวเปิดตัวชุดแรกของนางก็เหมานักดนตรี และ Producer และทีมงานเก่าของมารายห์ไปแทบจะเรียกได้ว่าถอดแบบไปเลยก็ว่าได้ อย่างตา “Puffy” นี่ก็อีกคน ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตงานเพลงให้กับนักร้องสาวคนนั้น (เปลี่ยนชื่อเป็น Puff Daddy และ P.Diddy ในเวลาต่อมา) จนถึงขั้นลงหลักปักฐานกันเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมเพลงคัฟเวอร์ที่เอามาใส่ในอัลบั้มที่ออกไล่เรี่ยกันและเป็นเพลงเดียวกันด้วยนะ (แหม๋อะไรจะใจตรงกันขนาดนั้น) แต่นั่นมันคือธุรกิจของวงการเพลง เราเข้าใจ และเคารพซึ่งกันและกัน

Comments

Popular posts from this blog

"มารายห์" กล่าวถึง "มาดอนน่า"

รีวิว อัลบั้ม CAUTION โดยคุณ ภูมิ โสภา

ครั้งแรกของ โรเบิร์ต เดอ นีโร กับการร่วมงานกับผู้กำกับ แนนซี เมเยอร์ส ในหนังคอมเมดี้ The Intern